หลักสูตรที่เปิดสอน
หลักสูตรที่เปิดสอน

หลักสูตรการสอน (Project Approach)

 

แนวคิดหลักการ 
การจัดการศึกษาปฐมวัย
        การจัดการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียนอบจ.สาธิตร่วมพัฒนาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการให้ความรักความอบอุ่นแก่เด็กเป็นการให้การศึกษาภายใต้บรรยากาศ
ที่เหมาะสมและเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้เด็กพัฒนาศักยภาพของตนเองผ่านกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก โดยขึ้นอยู่กับความสนใจ 
และความอยากรู้อยากเห็นของตัวเด็กเอง เพื่อสร้างคุณภาพชีวิต ก่อให้เกิดปัญญา แสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ค้นพบความต้องของตนเอง อันจะนำไปสู่
ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  มีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม 

        หลักการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียนเป็นข้อกำหนดอันสำคัญร่วมกันของบุคลากรทุกคนที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาปฐมวัยในอันที่จะใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ
ในการจัดประสบการณ์ให้กับเด็ก โดยยึดหลักการดังต่อไปนี้
1.  ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ มุ่งเน้นการเจริญเติบโตตามพัฒนาการของมนุษย์ทั้ง 4 ด้าน คือ ความเจริญทางด้านร่างกาย ความเจริญทางอารมณ์-จิตใจวามเจริญทางสังคมและเจริญทางปัญญา
2.  ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและการให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ
3.  จัดประสบการณ์การเรียนรู้ผ่านการเล่นที่พัฒนาเด็กเป็นองค์รวม
4.  จัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความต้องการของเด็ก ความสนใจและเหมาะสมตามวัย  เป็นประสบการณ์การเรียนรู้อย่างมีความสุข
5.  ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก

การจัดการศึกษาแบบโครงการ (Project Approach)
         การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแบบโครงการเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนภายใต้บรรยากาศที่เป็นมิตร มีอิสรเสรี ให้เกียรติให้ความสำคัญแก่เด็กในฐานะคนๆหนึ่งที่มีสิทธิเท่าเทียมกันทุกคน สร้างความรู้สึกที่มั่นคง กล้าคิดกล้าแสดง กล้าลงมือทำ ครูเป็นผู้คอยให้การสนับสนุนคอยช่วยเหลือเมื่อเด็กต้องการ ครูจะเป็นผู้จัดสภาพแวดล้อมของห้องเรียนและเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่เอื้อให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมในเรื่องราวที่เป็นความสนใจและท้าทายความสามารถของเด็ก  ให้โอกาสเด็กได้ค้นพบและเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงกับสิ่งของ เรื่องราว สถานที่ บุคคลและเหตุการณ์ต่างๆภายในชุมชนของเด็ก ตามวิธีการของแต่ละบุคคล  เปิดโอกาสให้เด็กได้ประเมินผลการทำงานของตนเอง ได้เห็นพัฒนาการและความสำเร็จและล้มเหลวของตน ครูเป็นผู้ให้ข้อมูลย้อนกลับในทางบวกและคอยแนะนำช่วยเหลือให้เด็กได้ประสบผลสำเร็จในการทำกิจกรรม    

ลักษณะสำคัญของการสอนแบบโครงการ          
1.  เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้ร่วมกับระบบการสอนในหลักสูตรตามปกติ โดยโอกาสที่ครูจะใช้รูปแบบการเรียนการสอนนี้จะเกิดขึ้นภายใต้สภาพ
การเรียนการสอนตามปกติเมื่อครูสังเกตเห็นว่าเด็กมีความสนใจในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นพิเศษและต้องการจะศึกษาเรื่องนั้นต่อไปและครูพิจารณาว่าสามารถ
จัดกิจกรรมเพื่อศึกษาเรื่องนั้นได้และมีแหล่งทรัพยากรเพียงพอในการศึกษาเรื่องนั้น          

2.  จุดเน้นสำคัญของการจัดการเรียนการสอนนี้มุ่งที่ความสนใจของเด็กเป็นหลักเพื่อให้เด็กมีโอกาสได้ศึกษาเรื่องที่ตนสนใจ ในวิธีการของเด็กเอง  ดังนั้นการสอนแบบโครงการไม่มีการวางแผนการสอนอย่างชัดเจนไว้ล่วงหน้า   ครูผู้สอนคอยจะสังเกตจนพบความความสนใจของเด็ก แล้วจึงจะสามารถร่วมกันวางแผนและกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันกับเด็กขึ้นและจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการ
ความสนใจของเด็ก       

3. แม้ว่าการสอนแบบโครงการจะมุ่งที่ความสนใจของเด็กเป็นรายบุคคลแต่ในการเลือกหัวข้อของโครงการที่จะทำการศึกษานั้นเด็กทั้งกลุ่มจะร่วมกัน
เลือกหัวข้อของโครงการร่วมกันภายใต้กรอบความสนใจของเด็กส่วนใหญ่ในห้องเรียนและภายใต้การพิจารณาของครูว่าหัวข้อดังกล่าวสามารถเลือกเป็น
หัวข้อโครงการได้หรือไม่ 

4.การสอนแบบโครงการต้องการครูที่มีคุณลักษณะสำคัญอย่างยิ่งคือต้องเป็นผู้ที่ยอมรับเด็กโดยแท้ เชื่อมั่นว่าเด็กสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเด็กเอง โดยครูจะต้องแสดงบทบาทผู้ฟังที่ดีให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงความต้องการความสนใจของเด็กและจัดกิจกรรมตามความสนใจของเด็กอย่างแท้จริง ต้องไม่แสดงบทบาทของผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็ก ไม่เป็นผู้กำหนดกิจกรรมให้เด็กทำตามความคิดของครู    

 

หลักการและแนวคิดสำคัญของการสอนแบบโครงการ         
1 .เด็กศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างลุ่มลึกลงไปในรายละเอียดของเรื่องนั้น ด้วยกระบวนการคิดและแก้ปัญหาของเด็กเองจนพบคำตอบที่ต้องการ                                        
2 .เรื่องที่ศึกษากำหนดโดยเด็กเอง                                                                               
3. ประเด็นที่ศึกษา เกิดจากข้อสงสัยหรือปัญหาของเด็กเอง                                        
4. เด็กได้มีประสบการณ์ตรงกับเรื่องที่ศึกษาโดยการสังเกตอย่างใกล้ชิดจากแหล่งความรู้เบื้องต้น                                                                                                   
5. ระยะเวลาการสอนยาวนานอย่างเพียงพอตามความสนใจของเด็ก                          
6. เด็กได้ประสบทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จในการศึกษาตามกระบวนการแก้ปัญหา ของเด็ก                                                                                                            7. ความรู้ใหม่ที่ได้จากกระบวนการศึกษาและการแก้ปัญหาของเด็กเป็นสิ่งที่เด็กใช้กำหนดประเด็นศึกษาขึ้นใหม่ หรือใช้ปฏิบัติกิจกรรมที่เด็กต้องการ                       
8. เด็กได้นำเสนอกระบวนการศึกษา และผลงานต่อคนอื่น                                        
9. ครูไม่ใช่ผู้ถ่ายทอดความรู้ หรือกำหนดกิจกรรมให้เด็กทำ แต่เป็นผู้กระตุ้นให้เด็กใช้ภาษาหรือสัญลักษณ์อื่นๆเพื่อจัดระบบความคิด และสนับสนุนให้เด็กใช้ความรู้ทักษะที่มีอยู่คิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

 สาระสำคัญของการสอนแบบโครงการ
1.     สาระหลักของรูปแบบ คือกระบวนการแก้ปัญหา จะเป็นสาระหลักที่ครูใช้กระตุ้นให้เด็กใช้ตลอดกระบวนการจัดการเรียนการสอน  กระบวนการแก้ปัญหา เป็นกระบวนการที่ต้องการให้เด็กคิด หาวิธีการแก้ปัญหา โดยครูมีหน้าที่กระตุ้นให้เด็กเกิดความคิดในการที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาตามวิธีการของเด็ก มีขั้นตอนดังนี้             
                       1. กำหนดประเด็นปัญหา จากการที่เด็กสังเกต ศึกษาข้อมูล รับรู้และทำความเข้าใจปัญหา จนสามารถสรุปและกำหนดประเด็นปัญหาขึ้นได้               
                       2. เด็กวิเคราะห์โดยการอภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อแยกแยะประเด็นปัญหา สภาพ สาเหตุ และลำดับความสำคัญของปัญหา               
                       3. เด็กสร้างทางเลือกในการแก้ปัญหาด้วยการตั้งสมมุติฐาน       
                       4. เด็กตรวจสอบสมมุติฐานด้วยการลงมือปฏิบัติ           
                       5. สรุปผล สังเคราะห์ความรู้ด้วยตัวเอ ในการที่เด็กจะคิดแก้ปัญหาได้นั้นครูต้องมีการกระตุ้นให้เด็กคิด โดยการกระตุ้นให้เด็กได้ใช้ทักษะทางการคิด และลักษณะทางการคิด 
2.    สาระที่เป็นเนื้อหาตามหัวข้อโครงการ เป็นเนื้อหาที่เกิดจากความสนใจ ความต้องการของเด็ก แล้วถูกกำหนดเป็นหัวข้อโครงการที่จะทำการศึกษา     

กระบวนการจัดการเรียนการสอน 
การจัดการเรียนการสอนตามกระบวนการขอการสอนแบบโครงการประกอบไปด้วยระยะของโครงการ 3 ระยะใหญ่ๆ คือ         
                        ระยะที่ 1   เริ่มต้นโครงการ                   
                        ระยะที่ 2   พัฒนาโครงการ                     
                        ระยะที่ 3   รวบรวมสรุป

เวลาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน        
ตลอดการสอน 1 โครงการ เวลาที่ใช้ขึ้นอยู่กับการได้ดำเนินการขั้นตอน ตามขั้นตอนการสอนของรูปแบบ คือ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ พัฒนาโครงการ และรวบรวมสรุป ดังนั้นเวลาในการสอน 1 โครงการจึงไม่สามารถกำหนดให้แน่นอนตายตัวได้ เพราะขึ้นอยู่กับความสนใจในการทำกิจกรรมของเด็ก ส่วนในการสอน 1 ครั้งใน 1 วันใช้เวลาประมาณ 50-60 นาที ตามช่วงเวลาของกิจกรรมอิสระ หรือช่วงเวลาที่โรงเรียนกำหนดขึ้นเอง ซึ่งก็สามารถยืดหยุ่นให้มากหรือน้อยกว่านี้ได้ทั้งนี้ให้ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กเป็นสำคัญ

 

             การสอนภาษาอังกฤษแนวธรรมชาติ
             การสอนภาษาอังกฤษสำหรับเด็กอายุ 4 – 6 ปี เป็นการเรียนการสอนภาษาอังกฤษตามแนวคิดและวิธีสอนภาษาอังกฤษที่พัฒนาขึ้นมาโดย  
Dr. James J. Asher, ศาสตราจารย์ สาขาจิตวิทยาแห่ง University, San Jose State  California, USA เป็นการสอนภาษาที่สอง โดยการรับรู้ภาษา (Language Acquissition)  ที่เป็นไปเช่นเดียวกับเด็กเล็ก ๆ เรียนรู้ภาษาที่หนึ่ง เป็นกระบวนการที่เป็นไปตามธรรมชาติ (Natural Language Learning Sequence) กล่าวคือ สอนให้เด็กเข้าใจ 
(comprehension) โดยผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า  ในขั้นแรกๆ จะให้ผู้เรียนเน้นจุดสนใจไปที่การฟังให้เข้าใจ (listening comprehension) โดยการตอบสนองคำสั่ง 
(Commands) ที่ได้ยินโดยการเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย (physical movement) ดังนี้ผู้เรียนจะเข้าใจภาษาโดยผ่านทางการใช้สมองซีกขวา (Brain Switching ) เป็นการประยุกต์การสอนภาษาอังกฤษแบบ Communicative Language Teaching, หรือ Communicative Approach และ Whole Language เข้าไปในหลักกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมเป็นลักษณะการเรียนการสอนแบบ  Total Physical Response (TPR) โดยจะสอดคล้องกับการเรียนแต่ละคอร์ส และแต่ละระดับ ทั้งนี้เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปโดยสมบูรณ์เพิ่มพูนทักษะและเกิดผลสมฤทธิ์สูงสุดแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการเรียนรู้และการใช้ภาษาอังกฤษในระดับสูงขึ้นไปได้โดยง่ายและอย่างเชื่อมั่น  ระบบการเรียนในลักษณะนี้จะส่งผลให้เด็กรู้สึกรักและชอบที่จะเรียนภาษาอังกฤษ